กสศ.เตรียมความพร้อม “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” ยกระดับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

การศึกษานอกระบบ

กสศ.เตรียมความพร้อม โรงเรียนปลายทาง ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล ยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้มแข็ง หลังพบเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาชนบท กับในเมือง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการหนุนเสริมกลไกการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 4 ภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 3 “โรงเรียนพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและการพัฒนาครู” โดยมีคณะทำงานหนุนเสริมกลไกการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเข้าร่วมเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนปลายทางในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า โครงการหนุนเสริมกลไกการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 4 ภูมิภาค ถือเป็นกลไกที่สำคัญต่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม บูรณาการเชื่อมโยงงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนในเขตพื้นที่และ สพฐ. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole school approach) นำไปสู่การเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคนโยบายระดับต่างๆ โดยข้อมูลสำคัญจากโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจะถูกนำมาวิเคราะห์ให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย

การศึกษานอกระบบ

สำหรับทีมหนุนเสริมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั้ง 4 ภูมิภาค ที่มาร่วมกันในวันนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโรงเรียนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ให้สามารถดําเนินการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนด้วยมาตรการคุณภาพจากต้นแบบของ โรงเรียนพัฒนาตนเอง ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลถือเป็นพื้นที่เป้าหมายการปฏิบัติงานของครูรุ่นใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งมีจำนวน 699 แห่ง และพร้อมเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสำหรับนักศึกษาทุน (รุ่นที่ 1) จำนวน 281 แห่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี กล่าวว่า ทีมหนุนเสริมเป็นทีมที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และมีจิตอาสาที่ทำงานในแนวระนาบเพื่อส่งเสริมสนับสนุน กระตุ้น เสริมแรง ติดตามช่วยเหลือให้คำปรึกษา รวมทั้งประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อให้ดำเนินงานโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยใช้กลไกสำคัญที่ประกอบด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Q-PLC) ซึ่งเป็นกระบวนการเสริมสร้างพลังการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มครูทั้งในระดับโรงเรียนและเครือข่ายอย่างได้ผลและเกิดชุมชนการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง จนนำไปสู่เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Q-Learning) โดยอาศัยภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร (Q–Leadership) มาขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียน ที่มีเป้าหมายชัดเจน

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลของคณะทำงานทีมหนุนเสริมทั้ง 4 ภูมิภาค จะยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะเป็นหน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และรองรับการบรรจุแต่งตั้งผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทั้งนี้การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ครูเพียงคนเดียวคงไม่สามารถทำได้ ต้องใช้พลังของครูทั้งโรงเรียน ดังนั้น ผู้บริหาร ครู และอาจารย์ หรือโค้ชจึงเป็นคนสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ จึงมีหน้าที่ในการเชื่อม รวมพลัง และหากมีความร่วมมือกันทุกภาคส่วน การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ ความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศก็จะเกิดขึ้นได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี กล่าว

ดร.อนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า โจทย์หนึ่งที่ท้าทายการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสมอมา คือ การบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่ามีจำนวนนักเรียนไม่มาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เยาวชนแม้เพียงหลักร้อยหรือหลักสิบคนก็คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวแปรชี้ว่าภาพของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขณะที่กลไกการทำงานพัฒนาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าตามแนวตะเข็บชายแดน พื้นที่เกาะ ป่าเขา บนดอยสูง รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ยังพบปัญหา อาทิ เรื่องอัตรากำลังครูที่ไม่มีครูเลือกบรรจุบางพื้นที่ หรือการขอย้ายออก ผู้บริหารไม่สามารถวางแผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืนได้ จนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง