‘อาลีบาบา’ขยายธุรกิจเอเชียใต้ ดึงดูดผู้ค้าออนไลน์ในบังกลาเทศ

ข่าวธุรกิจ

อาลีบาบา เล็งเป้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยพยายามดึงดูดบรรดาพ่อค้า-แม่ค้าในบังกลาเทศ

อาลีบาบา เสนอโอกาสในการโปรโมทสินค้าและบริการของบรรดาผู้ประกอบการในบังกลาเทศแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มของบริษัทแลกกับค่าธรรมเนียมรายปี โดยเน้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)เป็นหลัก

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศระบุว่า ตอนนี้มีบริษัทจำนวนมากสมัครจำหน่ายสินค้ากับอาลีบาบา รวมถึง บริษัทในกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศในช่วงที่บังกลาเทศกำลังเผชิญปัญหาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่ำมาก และมีปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างมากมายมหาศาล

“อาลีบาบาต้องการช่วยโปรโมทผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆของบริษัทเอสเอ็มอีในบังกลาเทศ”ซาเอ็ด อาลี ผู้ช่วยเลขาธิการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ กล่าว

อาลีบาบาเข้าไปดำเนินธุรกิจในบังกลาเทศนาน20ปีแล้วแต่นับจนถึงตอนนี้มีบริษัทแค่ 160 แห่งเท่านั้นที่จัดหาผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆผ่านทางแพลตฟอร์มของอาลีบาบา เทียบกับปากีสถานและอินเดีย ที่มีบริษััทเข้ามาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบารวมกันมากถึง 3,000 แห่ง

ข่าวธุรกิจ

ภายใต้แผนขยายธุรกิจในบังกลาเทศครั้งนี้ อาลีบาบา เสนอตัวสร้างเพจ “Made in Bangladesh”เพื่อนำเสนอสินค้าจากผู้ผลิตชาวบังกลาเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการชาวบังกลาเทศเข้าถึงตลาดใหม่ๆนอกประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชลอตัว การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้

การเปิดแนวรุกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของอาลีบาบาในบังกลาเทศมีขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 31ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อนุมัติแผนการสนับสนุนบังกลาเทศมูลค่า 4,700 ล้านดอลลาร์ ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ส่งผลให้บังกลาเทศเป็นประเทศแรก ที่เข้าถึงกองทุนการฟื้นฟูและความยั่งยืน (อาร์เอสเอฟ) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า แพ็กเกจการกู้ยืมระยะเวลา 42 เดือนจะช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค, ปกป้องกลุ่มเปราะบาง รวมถึงส่งเสริมการเติบโตอย่างครอบคลุม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่บังกลาเทศได้

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังเสริมว่า เงินดังกล่าวจะรวมถึงการปฏิรูปที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ทางการคลัง เพื่อให้มีการใช้จ่ายด้านสังคมและการพัฒนามากขึ้น, เสริมสร้างภาคส่วนการเงินของบังกลาเทศ, ส่งเสริมการปฏิรูปด้านการคลังและการกำกับดูแล ตลอดจนสร้างความยืดหยุ่นด้านสภาพอากาศ แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> “สยามพิวรรธน์” เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ MICE ดันไทยเป็นจุดหมายจัดประชุมนานาชาติ